- เมื่อมีความผิดปกติของตาหรือสายตา เช่น มีแผ่นเนื้อหรือก้อนเนื้อที่เยื่อตา หรือเมื่อกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เสมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ถึงแม้โรคตาส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่บางโรคที่ร้ายแรงก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้
- ถ้าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นต้อเนื้อก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง การรักษาทำได้ไม่ยาก แต่อย่าไปใช้สมุนไพรหรือวิธีโบราณที่เรียกว่าวิธีตัดต้อด้วยก้านกระเทียมบ้าง กระชายบ้าง เพราะนอกจากจะไม่หายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้อีกด้วย
- ในผู้ที่เป็นน้อย ๆ ถ้าไม่มีอาการอักเสบและต้อเนื้อยังไม่ลามเข้ากระจกตาหรือตาดำ ก็ยังไม่ต้องทำการรักษาหรือทำการผ่าตัดใด ๆ เพราะไม่อันตรายต่อตา แต่ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ลม ฝุ่น และสิ่งระคายเคืองตาต่าง ๆ ถ้าต้องออกกลางแดด ควรสวมแว่นตาดำที่สามารถกันรังสีอัลตราไวโอเลต สวมหมวก และกางร่มเพื่อป้องกันมิให้ต้อเนื้อลุกลามมากขึ้น
- ถ้ามีอาการระคายเคืองตา ตาแดง หรือตาอักเสบ ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบเป็นครั้งคราว (ส่วนมากแพทย์จะนิยมให้ยาแก้แพ้และยาที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นหลอดเลือดหดตัว ซึ่งจะทำให้ต้อเนื้อที่แดงซีดลงได้) แต่ถ้ายังไม่ได้ผลหรืออักเสบมาก แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ (Steroid eye drops) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตาได้เร็ว (ยาหยอดตาเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหายไปได้) แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อดีขึ้นแล้วให้หยุดใช้ เพราะการใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากยา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งรุนแรงและอันตรายกว่าต้อเนื้อมากนัก
- การใช้ยาหยอดตาให้ใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น มิใช่หยอดไปเรื่อย ๆ เพราะบ่อยครั้งที่แพทย์สั่งยาหยอดตาให้ 1 ขวด เมื่อหมดขวดแล้วผู้ป่วยก็นำตัวอย่างไปซื้อมาหยอดเองอีกและหยอดต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่จำเป็น
- สำหรับการผ่าตัดให้รอจนกระทั่งต้อเนื้อลามเข้าไปในกระจกตาดำพอสมควรก่อน (สักประมาณ 3-4 มิลลิเมตร) และ/หรือเมื่อต้อเนื้อมีอาการมากจนมีผลต่อการมองเห็น (ตามัว) และมีทีท่าว่าจะลามต่อไปเรื่อย ๆ แล้วจึงค่อยไปโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก ซึ่งการผ่าตัดต้อเนื้อนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากนัก เพียงแค่หยอดหรือฉีดยาชาเฉพาะที่เพียงเล็กน้อยตรงบริเวณที่เป็นต้อเนื้อ จึงช่วยไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอะไรมากในระหว่างทำ แล้วแพทย์จะใช้เวลาเอาออกประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล
- ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังน้อยและต้อเนื้อยังเป็นไม่มาก หากรีบทำการผ่าตัด โอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำอีกจะมีสูงมาก และต้อเนื้อที่งอกขึ้นมาใหม่นี้มักจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นเพียงต้อลม ดังนั้น เมื่อแพทย์อธิบายว่าไม่เป็นอันตรายหรือยังไม่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยก็ควรรับฟังด้วยความเข้าใจ เพราะมีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยคำนึงถึงความสวยความงามมากเกินไปและอยากเอาออกทันที แต่หารู้ไม่ว่าในรายที่ผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกไปแล้วก็อาจเกิดต้อเนื้อกลับมาเป็นซ้ำและมีขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมอีก
- ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกแล้วจะมีโอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (โดยในคนวัยหนุ่มสาวจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงกว่าผู้สูงอายุ) ซึ่งในปัจจุบันสามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของต้อเนื้อได้โดยการวางแร่รังสีบีตาในบริเวณแผลที่ลอกเพื่อเข้าไปช่วยทำลายหลังการผ่าตัด หรือใช้ยาหยอดตาบางชนิด เช่น ไมโตมัยซินซี (Mitomycin C – MMC) หยอดหลังการผ่าตัด ซึ่งก็พบว่าได้ผลดีมาก (มีอัตรากลับมาเป็นซ้ำไม่ถึง 1%) แต่ผู้ป่วยก็ต้องหลีกเลี่ยงการถูกแดด ลม ฝุ่น และความร้อนร่วมด้วย มิฉะนั้นแม้จะใช้ยาป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ การกลับมาเป็นซ้ำก็มีอยู่เสมอ
- ในรายที่มีต้อเนื้อกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด ควรทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อซ้ำอีก ซึ่งมักจะช่วยให้หายขาดได้ (การผ่าตัดลอกต้อเนื้อสามารถทำได้เรื่อย ๆ ส่วนมากการผ่าตัดเพียง 2 ครั้งก็ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดได้แล้ว แต่จะมีเฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่อาจต้องผ่าตัดครั้งที่ 3)
Posted by admin on พฤษภาคม 8, 2020 at 10:03 am under ลอกต้อเนื้อ.
ปิดความเห็น บน วิธีการรักษาลอกต้อเนื้อให้ได้ผลและปลอดภัยที่สุด.